เป็นที่ทราบกันว่า ขนาดของนามบัตรที่เหมาะสมและดีที่สุดคือ ขนาด 9 x 5.5 ซม. มีขนาดพื้นที่มากพอสำหรับใส่ข้อความ แต่อาจไม่มากพอที่จะวางรูปได้มากนักนะคะ ไม่เหมาะจะใช้รูปขนาดใหญ่ รูปไม่ควรกินพื้นที่หรือเบียดบังข้อความอีกต่างหาก ด้วยช้อจำกัดมากมาย การออกแบบนามบัตรจึงนิยมใส่รูปแค่รูปเดียวเท่านั้น

          1 ภาพแทน 1,000 คำ  
            ถ้าวางรูปในนามบัตรได้แค่ 1 รูป เราจะเลือกรูปอะไรดี ?
            ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องคิดให้ซับซ้อนเวียนศีรษะ ก็แค่เลือกรูปที่ดีที่สุด อืม ... รูปที่ดี่สุดคือรูปอะไร รูปแบบไหนหว่า  ยากเหมือนกันนะเนี้ย ! ...
            1 ภาพแทนคำพูด คำสาธยาย คำบอกเล่าได้เป็นพันๆ คำจริงๆ ค่ะ แต่ถ้าภาพที่เราคิดว่าเจ๋งที่สุดมันกลายเป็นรูปภาพที่ไร้ความหมาย แทนคำพูดไม่ได้สักคำ รูปภาพนั้น ไม่ใช่รูปภาพที่ดีที่สุดสำหรับคุณแน่นอน  
            รูปภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญในนามบัตร ภาพนั้นต้องทำหน้าสื่อสารได้ เช่น นามบัตรของโรงแรม
สมมติมีภาพให้เลือก 3 ภาพ ภาพโมนาลิซ่าที่ติดอยู่บนผนังทางเข้า ภาพห้องจัดเลี้ยงอันโอ่อ่า ภาพห้องพักอันสวยหรู จะเลือกภาพไหนดี ?
            3 ภาพนี้สื่อสารได้ทั้งนั้นค่ะ ภาพสวยพอๆ กัน ใส่ทั้ง 3 ภาพเลยได้ไหม ?  ความจริงสามารถทำได้ค่ะ
ใส่วางเรียงไปเลย 3 ภาพแบบไม่ต้องคิดอะไร แค่ต้องการโชว์ -  หรือถ้าจะคิดสักหน่อย เลือกภาพหนึ่งภาพ จัดวางเป็นภาพพื้นหลังเบลอๆ  วางอีกสองภาพคู่กัน ก็ไม่เลวนะคะ  แต่ถ้าจะเลือกใส่เพียงภาพเดียว ต้องกลับไปที่เป้าหมาย เราจะใส่ภาพที่สามารถสื่อสารลักษณะของกิจการประเภทโรงแรมได้อย่างชัดเจนที่สุด โรงแรมเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวก็จริง แต่ลูกค้าผู้เข้าพัก หวังจะได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัย ภาพอาหารซึ่งดูน่ารับประทาน ภาพโมนาลิซ่าซึ่งอาจบ่งบอกรสนิยม ความสวย หรือจะบอกอะไรก็ตาม แต่ทั้งภาพอาหารและภาพวาดโมนาลิซ่า ไม่ได้สื่อถึงความสะดวกสบาย บริการหลักของธุรกิจโรงแรม คือการให้บริการห้องพัก ให้พื้นที่ส่วนตัวซึ่งลูกค้าโหยหาและต้องการมากที่สุด ... ฟันธงค่ะ เลือกภาพห้องพัก
            คราวนี้ โจทย์จะง่ายขึ้น เลือกภาพห้องพัก มีกี่ภาพให้คัดสรรกันล่ะ เลือกภาพที่สวยที่สุด ถ่ายในมุมที่ดูดีที่สุด โปร่ง โล่ง ดูสะอาดสะอ้าน เห็นแล้วดึงดูดอยากเข้าไปพักผ่อนนอนหลับให้สบาย... เลือกภาพได้แล้ว หาตำแหน่งจัดวางภาพค่ะ การจัดวางภาพในนามบัตร ไม่มีกำหนดกฎบังคับ แค่หามุมที่เหมาะสม สวย เด่น ภาพต้องไม่บดบังตัวหนังสือ
           
            วางภาพพื้นหลัง 1 ภาพ ในนามบัตร
            ภาพ background หรือภาพพื้นหลัง เป็นเทคนิคการวางภาพไว้ด้านล่างสุด ข้างใต้องค์ประกอบอื่น ๆ
            การวางภาพ background เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ มักถูกใช้ในงานออกแบบสิ่งพิมพ์รวมถึงงานตัดต่อวิดีโอ สื่อมัลติมีเดียต่างๆ  การใช้ภาพพื้นหลังในนามบัตร ก็ดูสวยงามสบายตา น่าค้นหาไปอีกแบบค่ะ
            ภาพเกือบทุกประเภท เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด สามารถวางเป็นภาพพื้นหลังในนามบัตรได้  โดยเฉพาะภาพถ่ายมุมสวยๆ ภาพถ่ายมุมกว้างที่ดูไม่อึดอัด เช่น ภาพวิว ภาพสถานที่ต่างๆ ภาพภายในร้าน ภาพห้องจัดเลี้ยงหรือห้องพัก หรือแม้แต่ภาพใบหน้าบุคคล ภาพสินค้าถ่ายซูมใกล้ๆ  เช่น ภาพแหวน สร้อยคอ ถ่ายซูม ๆ เลยค่ะ
            จะทราบได้อย่างไร ภาพไหนดี ภาพไหนโดน ภาพไหนใช่เลย คำตอบที่ดีที่สุดคือ ต้องลองออกแบบจัดวางภาพและองค์ประกอบทุกอย่างลงไปให้ครบก่อน อาศัยโปรแกรมแต่งภาพปรับสีแสง จากนั้น Preview ดูให้เห็นกับตา วางภาพลงไปแล้ว ปรับให้จางลงแล้ว ได้ภาพที่นุ่มสวยสบายตาแค่ไหน ภาพยังชัดเจนในระดับที่ดูรู้เรื่อง  และยังสือสารได้หรือไม่ ถ้าดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร สีหม่นหมอง มองแล้วรู้สึกรำคาญลูกตา แนะนำให้ลบภาพทิ้งค่ะ เลือกภาพใหม่ ปรับแต่งกันใหม่ จะดีจะโดนแค่ไหน ดูที่สีสันของภาพ เป็นภาพที่เหมาะจะวางในนามบัตรใบเล็กๆ หรือไม่ การวางภาพพื้นหลัง อาจใช้พื้นที่แค่ครึ่งเดียว หรือวางเต็มหน้า ย้ำว่า แล้วแต่ความสวยงามค่ะ  
ไอเดียการวางภาพพื้นหลังบนนามบัตร ไม่เจาะจงเน้นให้เห็นรายละเอียดในภาพอยู่แล้วค่ะ แต่ภาพนั้นต้องใช่ ... ภาพเดียวอยู่เลย !!

            วางภาพพื้นหลัง 1 ภาพกับภาพอื่นๆ
            ไอเดียต่อมา การใช้ภาพ background 1 ภาพกับภาพอื่นๆ
            วิธีนี้เป็นที่นิยมสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ สองภาพมักสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน เช่น นามบัตรของรีสอร์ท ใช้ภาพวิวที่เห็นบรรยากาศของรีสอร์ท วางเป็นภาพ background และใส่ภาพห้องพัก 1- 2 ภาพซ้อนทับภาพ background ด้วย ภาพห้องพัก เป็นภาพที่มีสีสันชัดเจน 100% หรือประเภทภาพสินค้าหลักเด่นๆ ที่อยากโชว์ให้ลูกค้าเห็นค่ะ  ... เมื่อคำนวณพื้นที่เหลือๆ หลังจากวางข้อความครบแล้ว อาจวางภาพได้สูงสุดไม่เกิน 4 ภาพ
แต่หาก 4 ภาพนี้ถูกย่อเล็กจนเกินไป แถมยังเป็นภาพถ่ายระยะไกล ภาพนั้นจะเห็นไม่ชัดและไม่เด่นค่ะ  ทางเลือกคือ ตัดใจโปรดอย่าเสียดาย  ลดจำนวนภาพลง อาจเลือกภาพสวยที่สุด 1 ภาพ ภาพที่แทนคำโฆษณานับพันคำได้นั่นเอง

            ภาพโลโก้
            การออกแบบโลโก้เป็นรูปภาพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับหน่วยงาน บริษัท ห้างร้านที่ไม่ต้องการ
วางภาพตกแต่งในนามบัตร จะมีก็แค่ภาพโลโก้ ถ้าโลโก้สวยเด่นสะดุดตา เท่ากับว่ายิงปืนนัดเดียว ได้นกตั้งสองตัว เพราะภาพโลโก้ภาพเดียวสวยโดดเด่น สื่อสารได้เข้าใจ เข้าถึงได้และจดจำง่ายก็เพียงพอแล้วค่ะ  

           ภาพลายเส้น 

             หนึ่งภาพแทนพันคำ ภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาพถ่ายค่ะ อาจะเป็นภาพวาดลายเส้น เส้นคมๆ ดูเรียบง่าย สบายตา ที่สำคัญ ภาพลายเส้นก็สื่อสารได้ เช่น นามบัตร้านกาแฟ ใส่ภาพวาดถ้วยกาแฟพร้อมไอลอยเหนือปากแก้ว นามบัตรโรงงานผลิตตุ๊กตาผ้าใส่ภาพวาดตุ๊กตาน่ารักๆ  นามบัตรร้านดอกไม้ก็วาดภาพดอกไม้ ตัวอย่างนี้ถือว่าการสื่อสารประสบความสำเร็จแล้วค่ะ
            ข้อควรระวังกับการใช้ภาพลายเส้นบนนามบัตรคือคุณภาพการพิมพ์ เริ่มตั้งแต่การเลือกกระดาษพิมพ์ รวมถึงการพิมพ์แบบเลเซอร์ ซึ่งจะได้ภาพลายเส้นที่สวยคมชัดกว่าการพิมพ์แบบอิงค์เจตค่ะ ...
            ในทางกลับกับ ภาพลายเส้นที่มีรายละเอียดมาก เช่น ภาพลายไทย ภาพโลโก้ที่มีลายเส้นละเอียดยิบ
จะโดดเด่นมากขึ้นโดยเพิ่มเทคนิคการพิมพ์แบบพิเศษ เช่นการปั๊มนูน ดันให้ลายเส้นนูนขึ้นจากพื้นผิวกระดาษจนสัมผัสได้ หรือการปั๊มฟอยล์เน้นสีสันเงาวิ๊งๆ ลงบนภาพวาดลายเส้น

            นามบัตรขนาดพิเศษใส่รูปได้จุใจ          
            ความจริงแล้ว นามบัตรไม่ได้ถูกจำกัดขนาดไว้ที่ 9 x 5.5 ซม. หรือ 8.5 x 5.5 ซม.ค่ะ สามารถออกแบบให้เล็กกว่าหรือใหญ่กว่าขนาดมาตรฐานได้ หรือกำหนดขนาดตามความต้องการใช้งาน เช่น นามบัตรสำหรับแจกในโอกาสพิเศษ แจกตามงานอีเวนท์ ใช้นามบัตรที่มีขนาดพิเศษ รูปทรงพิเศษ การจัดวาง Artwork แบบสวยแปลกตา เท่ไม่เหมือนใคร แถมพิมพ์สี่สี ใข้กระดาษมันเคลือบเงา สวยปิ๊งปั๊งเป็นพิเศษ หน้าที่และบทบาทของนามบัตรใบนี้ยังเหมือนเดิมค่ะ เพิ่มเติมคือ ใช้ลุยทำการตลาดได้เต็มเหนี่ยว ถ้าเป็นนามบัตรขนาดใหญ่กว่ามาตรฐาน มีเพิ่มที่มากพอให้ใส่รูปกันจุใจ เพิ่มข้อมูลข่าวสาร อัดโปรโมชั่นลงไปได้ไม่ต้องอัดอั้นค่ะ นามบัตรที่ไม่ธรรมดา ไม่เหมือนใครมีความโดดเด่นและดึงดูดในตัวเองอยู่แล้ว แถมแจกถึงมือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเจาะจงตั้งใจมาในงานนั้นโดยเฉพาะ
            นามบัตรขนาดเล็กกว่า 9 x 5.5 ซม. ก็เป็นขนาดพิเศษเช่นกันค่ะ แถมจะกลายเป็นนามบัตรที่น่ารัก แต่โดดเด่น อาจออกแบบด้วยรูปทรงที่แปลกใหม่ มีสไตล์ เก๋ไก๋น่าสนใจได้ เช่น ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส สามเหลี่ยม วงกลม สี่เหลี่ยมมุมโค้ง รวมถึงตัดแต่งเพิ่มรอยหยักที่ขอบกระดาษ หรือตัดเป็นรูปทรงตุ๊กตา ดอกไม้ รูปบ้าน รูปอะไรก็ได้ที่ต้องการสื่อสาร  ความจริงแล้วนามบัตรขนาดเล็กกว่ามาตรฐานไม่แคบเกินไปที่จะใส่รูปภาพ  ขึ้นอยู่กับการออกแบบจัดวางค่ะ  สรุปได้ว่านามบัตรที่ดีจะมีกี่รูป พิจารณาได้ตามความเหมาะสมและความสวยงามนะคะ
            ภาพที่ไม่ควรใช้ในนามบัตร
            > ภาพตัดปะ ตัดมาจากภาพอื่น หรือภาพที่ถ่ายมาเพื่อใช้วางในนามบัตร แต่ตัดต่อบางส่วนสเกลภาพผิดเพี้ยน มุมและขนาดภาพไม่สมดุล ดูหลอกตา ถ้าถ่ายภาพไม่สวยควรแก้ไขโดยถ่ายใหม่จนกว่าจะสวยและโดนค่ะ !!
            > ภาพลิขสิทธิ์ เช่นภาพโลโก้หน่วยงาน บริษัท ห้างร้านอื่น ภาพสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น
ภาพที่มีเจ้าของตัวจริง ซึ่งถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ถึงจะได้รับอนุญาตก็ไม่สมควรใช้ค่ะ อย่าลืมว่าภาพ   1 ภาพในนามบัตรแต่ละใบมีหน้าที่อะไรบ้าง ... แนะนำตัว บอกตัวตน โฆษณา
            > ภาพไม่เหมาะสม ภาพมากมายไม่เหมาะจะใช้กับนามบัตร โดยเฉพาะภาพที่ล่อแหลม หมิ่นเหม่
ภาพสะท้อนความรุนแรง ภาพที่ล่วงละเมิดบุคคล่และสถานที่
            > ภาพที่ไร้ความหมายหรือขัดแย้ง ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะของกิจการ ไม่สื่อถึงสินค้าและบริการอาจสร้างความเข้าใจผิด
ถือว่าการสื่อสารล้มเหลวค่ะ
            > รูปภาพคุณภาพต่ำ ภาพเบลอ มัว แตก ไม่คมชัด สีสันไม่สดสวยควรหลีกเลี่ยงค่ะ ภาพคุณภาพต่ำส่งผลให้นามบัตรดูเก่าโทรม 
สกปรก รกรุงรัง นอกจากจะไม่น่าสนใจ ไม่น่าเชื่อถือแล้วยังอาจทำให้เสียภาพลัษณ์ และสร้างความจดจำที่ไม่ดีอีกด้วย

…………………………………………………………………………..
 

อย่าลืมติดตามเรื่องราว บทความ สาระดีๆ จากเราที่ https://www.facebook.com/SetSquareSurprisePrint/
ฝากแชร์และกด Like ด้วยนะคะ